ทำไมเรากินข้าวแล้วถึงปวดถ่ายทันที ?
กินแล้วปวดถ่ายทันที
ทางการแพทย์เรียกว่า Gastrocolic reflex (gastro คือ กระเพาะอาหาร, colic คือ ลำไส้, reflex คือ ปฏิกิริยาโต้ตอบ) โดยหลังกินอาหารเข้าไป
กระเพาะจะขยายและส่งสัญญาณไปที่ลำไส้และทวารหนัก ให้มีความรู้สึกปวดเบ่ง อยากถ่าย
และกระตุ้นให้ลำไส้และทวารหนักบีบตัว
เพื่อขับอุจจาระเดิมที่อยู่ในลำไส้ใหญ่และทวารหนักออกไป
ซึ่งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเป็นส่วนที่ตอบสนองกับกลไกนี้มากที่สุด
Gastrocolic reflex ถือเป็นความผิดปกติไหม
?
Gastrocolic reflex ถือเป็นกลไกปกติหลังรับประทานอาหาร
ร่างกายจะขับอุจจาระเดิมออกเพื่อให้มีพื้นที่รับอาหารที่กินเข้าไปใหม่ได้มากขึ้น
โดย Gastrocolic reflex มักจะเป็นเด่นช่วงกลางวันมากกว่าช่วงกลางคืน
กินแล้วต้องถ่ายทันที
เป็นเพราะลำไส้เราสั้นจริงไหม ?
ไม่จริง
บางคนเข้าใจผิดคิดว่าหลังจากที่กินข้าวแล้วปวดถ่ายทันที เป็นเพราะลำไส้สั้น
ทำให้อาหารเคลื่อนตัวไปถึงทวารหนักเร็วกว่าคนทั่วไป ซึ่งไม่เป็นความจริง
ปกติลำไส้เล็กคนเรายาวประมาณ 6 เมตร ลำไส้ใหญ่ยาวประมาณ 1 เมตร
เพราะฉะนั้นอาหารที่กินเข้าไป กว่าจะเคลื่อนตัวไปถึงทวารหนักก็ใช้เวลาค่อนข้างนาน
การกินแล้วถ่ายทันทีเกิดจาก Gastrocolic reflex คืออาหารที่กินเข้าไปใหม่จะถ่างขยายกระเพาะ
และส่งสัญญาณกระตุ้นให้อุจจาระเดิมที่ค้างในลำไส้ใหญ่ถูกขับออก
เมื่อไรถึงเรียก
Gastrocolic reflex ว่าผิดปกติ
?
โดยทั่วไป
Gastrocolic reflex ถือเป็นกลไกปกติของร่างกาย
แต่ถ้ากลไกนี้ทำงานมากเกินไปก็ถือเป็นความผิดปกติได้ การที่ Gastrocolic
reflex ทำงานมากเกินไป (overactive gastrocolic response) อาจจะพบได้ใน 2 โรค คือ
1. โรคลำไส้แปรปรวนชนิดท้องเสียเด่น มีอาการเช่น หลังรับประทานอาหารจะรู้สึกปวดอยากถ่ายมาก
กลั้นไม่ค่อยได้ ต้องรีบไปเข้าห้องน้ำทันที อาจมีปวดมวนท้อง ปวดเบ่ง ท้องอืด
ร่วมด้วย หลังถ่ายเสร็จอาการมักจะดีขึ้น
2.
Dumping syndrome มีอาการปวดเบ่งอยากถ่ายหลังรับประทานอาหารได้เหมือนกัน
แต่แตกต่างจากลำไส้แปรปรวนตรงที่ภาวะนี้มักจะมีหน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น
เหงื่อออก ร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน ถ้า Gastrocolic
reflex ทำงานน้อยไปหรือไม่ทำงาน จะทำให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังได้
(Chronic constipation)
เมื่อไรถึงควรไปพบแพทย์
?
ถ้าหลังรับประทานอาหารรู้สึกปวดเบ่ง อยากเข้าห้องน้ำ
แต่มีอาการไม่มาก ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นอันตรายอะไร แต่ถ้า Gastrocolic
reflex ทำงานมากเกินไปตามที่ได้กล่าวข้างต้น
แนะนำให้ลองไปปรึกษาแพทย์ โดยคุณหมออาจจะแนะนำให้ปฏิบัติตัวดังนี้
·
หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่ทำให้อาการกำเริบเยอะ
·
ฝึกนิสัยการขับถ่ายที่ถูกต้อง
·
พิจารณาให้ยาที่ช่วยลด
Gastrocolic reflex เช่น
Antispasmodic, Tricyclic antidepressants และยารักษาลำไส้แปรปรวน
ตัวอื่น ๆ
ข้อมูลอ้างอิงจาก
Malone JC, Thavamani A. Physiology, Gastrocolic Reflex
ขอบคุณแหล่งที่มา
: https://health.kapook.com/view256346.html