ภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia)
โดย พญ. ศิริลักษณ์ ผลศิริปฐม
ภาวะนอนไม่หลับ คืออะไร
ภาวะนอนไม่หลับ
เป็นภาวะที่พบได้บ่อยของปัญหาการนอนหลับ โดยคนที่มีภาวะนี้จะมีปัญหานอนไม่หลับ
หรือใช้เวลานานกว่าจะนอนหลับตั้งแต่ต้นของการเข้านอน หรือในคนที่สามารถนอนหลับได้ตั้งแต่ต้น
แต่ต้องตื่นมากลางดึกและไม่สามารถนอนต่อได้
ซึ่งคนที่มีภาวะนี้จะมีอาการใดอาการหนึ่ง หรือทั้งสองอาการร่วมกัน ได้แก่
- เข้านอนแล้ว นอนไม่หลับ
หรือใช้เวลานานกว่าจะสามารถหลับได้
- สามารถนอนหลับได้เมื่อเข้านอน
แต่ต้องตื่นมากลางดึกและไม่สามารถนอนต่อได้
ภาวะนอนไม่หลับมีสาเหตุจากอะไรบ้าง
แบ่งเป็นสาเหตุหลักๆได้ 2 สาเหตุ
1.
สาเหตุทางด้านจิตใจ และโรคทางจิตเวช หรือความเครียดวิตกกังวล
2.
สาเหตุจากความผิดปกติทางด้านร่างกาย ตัวอย่างที่พบได้บ่อย เช่น
– โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
– การกระตุกของขาหรือแขนในระหว่างหลับจนเกิดการรบกวนการนอน
– อาการปวดตามร่างกาย
เช่น ปวดตามข้อ, ปวดกล้ามเนื้อ
ภาวะใดบ้างที่ทำให้นอนไม่หลับ
มีหลายภาวะที่ส่งเสริมทำให้นอนไม่หลับ
1.
การนอนไม่หลับจากสารกระตุ้นบางชนิด เช่น ชา กาแฟ
2.
ภาวะที่ระดับ เมลาโทนิน (melatonin) ลดลง
โดยสารเมลาโทนินนี้จะหลั่งเพื่อกระตุ้นให้เกิดการนอนหลับ
ซึ่งพบว่าอายุที่มากขึ้นจะทำให้การหลั่งของสารชนิดนี้ลดลง
3.
การได้รับแสงกระตุ้น เช่นการรับแสงในช่วงเย็น หรือแสงจากโทรทัศน์
โทรศัพท์มือถือที่เปิดใช้ช่วงก่อนการเข้านอน
4.
การเข้านอนและตื่นนอนไม่เป็นเวลา
5.
การออกกำลังกายใกล้เวลาเข้านอน
6.
สิ่งแวดล้อมในห้องนอนไม่เหมาะสม เช่นสว่างเกินไป ร้อนหรือหนาวเกินไป
เมื่อไหร่ควรจะปรึกษาแพทย์
ปกติภาวะนอนไม่หลับนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในคนทั่วไป
เช่น มีความเครียดวิตกกังวล การเปลี่ยนที่นอน หรือเปลี่ยนเวลา
นอน ซึ่งภาวะนอนไม่หลับมักเป็นชั่วคราวเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์โดยสามารถหายเองได้เมื่อสิ่งกระตุ้นเหล่านี้หมดไป
ดังนั้นในคนที่มีภาวะนอนไม่หลับ หรือนอนหลับยากควรจะปรึกษาแพทย์ทางด้านการนอนหลับ
เมื่อมีปัญหาในการนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องกันเป็นเดือน
โดยที่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เกี่ยวกับสุขอนามัยการนอนหลับที่ดีแล้ว
อย่างไรก็ตามหากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างรีบด่วน เช่น
มีอาการง่วงผิดปกติในระหว่างวันจนทำให้งีบหลับหรือหลับในในขณะขับรถก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ขอบคุณแหล่งที่มา: https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/insomnia/