10 วิธีรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และ โรคซึมเศร้าหลังคลอด!

10 วิธีรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และ โรคซึมเศร้าหลังคลอด!

ในช่วงหลังคลอดน่าจะเป็นเวลาที่คุณแม่ทุกคนควรตื่นเต้นร่าเริง และยินดีในความสำเร็จของคุณแม่ที่สามารถให้กำเนิดลูกน้อยที่แข็งแรงสมบูรณ์ให้สมกับที่รอคอยมานาน แต่เชื่อหรือไม่ว่าคุณแม่หลังคลอดเกือบ 90% จะมีอาการเปลี่ยนแปลง และมากกว่าครึ่งหนึ่งของคุณแม่หลังคลอดใหม่ ๆ จะมีอาการซึมเศร้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด คือคุณแม่จะมีอาการร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิด กังวล จิตใจอ่อนไหว นอนไม่หลับ ฯลฯ แต่หากได้รับคำแนะนำและการดูแลที่ถูกต้อง อาการซึมเศร้าหลังคลอดก็จะหายไปเองภายในเวลาไม่กี่วัน

 

คุณแม่ราวร้อยละ 10-15% จะมีอาการซึมเศร้าปานกลาง ซึ่งคุณแม่จะมีอาการเบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับหรือนอนทั้งวัน คิดว่าชีวิตของตนนั้นไร้ค่า (โรคซึมเศร้าหลังคลอดจะไม่หายหากไม่ได้รับการรักษา) ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขด้วยการปลอบโยนและให้กำลังใจ ตลอดจนการช่วยเหลือที่ถูกต้อง อาการจะรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็น "โรคจิตหลังคลอด" คือคุณแม่จะมีอาการหงุดหงิด สับสน นอนไม่หลับ ถ้ามีใครขัดใจก็จะโกรธรุนแรง บางรายอาจมีอาการหูแว่ว บางรายอาจทำร้ายลูกหรือทำร้ายตัวเอง ซึ่งอาการเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล แต่อย่างไรก็ตาม โรคจิตหลังคลอดนี้ก็พบได้ไม่บ่อยมากนัก

 

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ อาการซึมเศร้าหลังคลอด หรือ อารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum blues, Maternity blues) เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุดของคุณแม่ที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอด คือประมาณ 50-70% โดยคุณแม่จะมีอาการซึมเศร้าเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ฮอร์โมนที่ลดระดับลงอย่างรวดเร็วจนตรวจไม่พบในกระแสเลือด เชื่อว่าอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณแม่เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ อารมณ์เศร้าของแต่ละคนจะมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่มักจะปรากฏให้เห็นในช่วง 2-5 วันแรกหลังคลอด (ภาวะซึมเศร้ามักจะเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด หลังจากนั้นอาจจะพบได้บ้างประปราย บางทีอาจจะพบหลังคลอดไปแล้วหลาย ๆ เดือนก็ได้ ซึ่งสาเหตุก็เนื่องมาจากสภาพแวดล้อม คนรอบข้าง และปัญหาต่าง ๆ ที่คุณแม่ยังแก้ไม่ตก) และจะเป็นอยู่นานประมาณ 7-10 วัน แต่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่พบว่าคุณแม่จะมีอารมณ์เศร้าหลังคลอดใหม่ ๆ โดยคุณแม่อาจจะรู้สึกสับสนแปรปรวน มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล จิตใจอ่อนไหว นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เบื่ออาหารแต่ไม่ถึงกับกินอะไรไม่ได้เลย มีอาการเศร้า เหงา และอาจถึงกับร้องไห้ออกมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาการเหล่านี้จะมีมากขึ้นหากคุณแม่ต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกน้อยเพียงลำพัง

 

ในช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ คุณแม่จะมีความสุขที่ได้อยู่เคียงข้างกับลูกน้อย แต่ไม่นานต่อมากลับพบว่าตนเองรู้สึกเศร้าสร้อย สับสน และเป็นห่วงเป็นกังวลเรื่องการทำหน้าที่แม่ เพราะกลัวว่าจะเลี้ยงลูกไม่ได้บ้าง หรือกลัวว่าจะเลี้ยงได้ไม่ดีบ้าง คุณแม่ควรใจเย็น ๆ ให้เวลากับตนเองสักนิด เพราะการเป็นแม่ที่ดีนั้นต้องอดทนเรียนรู้ และต้องอาศัยทั้งเวลาและความตั้งใจ เพราะไม่มีสิ่งใดที่จะเนรมิตให้เป็นยอดคุณแม่ได้ในทันที การที่คุณแม่และคุณพ่อได้เรียนรู้ว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นเกิดจากอะไรได้บ้าง พยายามทำความเข้าใจ และหาทางแก้ปัญหาหรือเตรียมการไว้ตั้งแต่ก่อนคลอด พอหลังคลอดแล้วคุณแม่ก็จะเอาชนะมันได้ ทำให้คุณแม่มีกำลังใจ มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส และสนุกสนานกับการเลี้ยงดูลูกน้อย

 

แนวทางการรักษา : ควรดูแลในเรื่องของการปรับสภาพจิตใจเป็นหลัก เช่น การให้กำลังใจ คอยช่วยเหลือเป็นห่วงเป็นใย ฯลฯ เพียงแค่นี้อาการก็จะดีขึ้นเอง

 

โรคซึมเศร้าหลังคลอด

โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) เป็นกลุ่มที่พบได้ประมาณ 10-15% ของคุณแม่ที่มีอาการซึมเศร้าทั้งหมด เป็นอาการต่อเนื่องจากภาวะซึมเศร้าแบบแรก คือถ้ามีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิน 2 สัปดาห์เมื่อไหร่ก็จะถือว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดแล้ว โดยจะเริ่มเป็นตั้งแต่ในช่วง 2 สัปดาห์หลังคลอดขึ้นไป (อาจเป็นเมื่อลูกมีอายุได้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ หรือไม่ก็หลังจากลูกมีอายุหลายเดือนแล้วก็ได้) และอาจจะคงเป็นอยู่ไปประมาณ 4 สัปดาห์ (ไม่เกิน 1 เดือน) อาการโดยรวมจะเหมือนกับกลุ่มแรกทั้งหมด แต่จะมีระดับความรุนแรงมากขึ้นมาอยู่ในระดับปานกลาง และหลาย ๆ อาการจะเริ่มรบกวนชีวิตประจำวันของคุณแม่ เช่น ไม่กิน ไม่ลุกออกจากเตียง เอาแต่นอนร้องไห้ จนเลี้ยงลูกไม่ได้ ต้องมีคนเข้ามาช่วยเลี้ยงลูก ฯลฯ (แต่กลุ่มนี้จะยังไม่ถึงกับหลุดไปจากโลกแห่งความเป็นจริง คือจะไม่ทำร้ายลูกหรือทำร้ายตัวเอง แม้ว่าอาจจะมีความคิดดังกล่าวก็ตาม)

โรคซึมเศร้าหลังคลอดนี้เป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน แล้วอาการของโรคจะหายไปได้ในไม่ช้า เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะซับซ้อนและต้องดูแลรักษานานขึ้นและยากขึ้น โดยคุณแม่แต่ละคนจะมีอาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอดหลายอย่างและแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปจะมีอาการซึมเศร้า รู้สึกสิ้นหวังท้อแท้ คิดว่าชีวิตของตนนั้นไร้ค่า เครียด กังวล เบื่อหน่าย รู้สึกเบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับหรือนอนทั้งวัน ขาดสมาธิ มักรู้สึกว่าตัวเองผิด ความคิดหมกมุ่นสับสน และไม่สนใจตัวเองและเพศตรงข้าม ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขด้วยการปลอบโยนและให้กำลังใจ ตลอดจนการช่วยเหลือที่ถูกต้อง อาการจะรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็น "โรคจิตหลังคลอด"

สาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้า : ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุของโรคซึมเศร้าหลังคลอดที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าสาเหตุหลัก ๆ น่าจะเกิดจากการสั่งการของสมองและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย แต่ในบางกรณีอาจเกิดจากปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่คุณแม่อาจรับมือไม่ไหวก็เป็นได้ เช่น

1. มีประวัติเคยเป็นโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล หรือเคยมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น เคยถูกกระทำทารุณ หย่าร้าง หรือการเสียชีวิต รวมถึงการมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์หรือในระหว่างการคลอด เช่น ลูกคลอดก่อนกำหนดและไม่แข็งแรง

2. ครอบครัวมีปัญหาทางด้านการเงิน มีระยะเวลาในการลาคลอดที่สั้น ต้องรีบกลับไปทำงาน หรือคู่สมรสขาดความเห็นอกเห็นใจหรือนอกใจ

3. คุณแม่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ หรือน้ำนมไม่ไหล

4. ลูกเลี้ยงยากหรือมักงอแงโดยไม่มีเหตุผล หรือต้องเลี้ยงลูกเองตามลำพังโดยสามีและครอบครัวไม่ให้ความช่วยเหลือเท่าที่ควร

สัญญาณบ่งชี้ถึงโรคซึมเศร้าหลังคลอด มีดังต่อไปนี้ (คุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดอาจมีบางอาการเหล่านี้หรือมีอาการทั้งหมดก็ได้)

1. มีอารมณ์แปรปรวนหรือมักหงุดหงิดได้ง่าย รู้สึกเศร้า วิตกกังวล ไม่มีความสุข รู้สึกไร้ที่พึ่ง สิ้นหวัง โดดเดี่ยว หวาดกลัว เบื่ออาหาร เหนื่อยล้า หรือมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกน้อย

2. มีอาการนอนไม่หลับ หรือเป็นโรคนอนไม่หลับ

3. รู้สึกว่าตนเองเป็นแม่ที่ไม่ดีพอเท่าที่ควร ขาดความสนใจหรือมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการดูแลลูกน้อย

4. มีอาการปวดหรือปวดศีรษะเรื้อรัง

5. มีความคิดว่าจะทำร้ายลูกหรือทำร้ายตัวเอง

6. แนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าหลังคลอด :

สำหรับการบำบัดรักษาโรคซึมเศร้านั้น สามารถรักษาด้วยยาและการเอาใจใส่ดูแลจากคนรู้ใจอย่างใกล้ชิด (ดูในหัวข้อ "วิธีรักษาอาการซึมเศร้าหลังคลอด" ด้านล่าง) ก็คือคุณพ่อและญาติสนิททั้งหลายที่จะเป็นยาขนานเอกของคุณแม่ ส่วนยาที่คุณหมอให้คุณแม่รับประทานนั้นแม้ว่าจะช่วยให้อาการดีขึ้นก็จริง แต่ยาบางตัวก็อาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น ง่วงซึม ปากแห้งและมึนงง ถ้าคุณแม่คิดว่าทนอาการแพ้ยาไม่ไหวก็ควรปรึกษาหมอเพื่อเปลี่ยนยาที่ใช้ ถ้าภาวะซึมเศร้ามีอาการรุนแรงในช่วงก่อนมีประจำเดือน คุณแม่ควรบอกให้หมอทราบด้วย เพื่อที่หมอจะได้สั่งยาบางอย่างเพิ่มเติมให้ เช่น ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อป้องกันอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน และที่สำคัญคุณแม่จะต้องดูแลตนเองและรับประทานยาที่หมอสั่งอย่างต่อเนื่อง พักผ่อนให้มาก ไม่ควรอดอาหารเพื่อลดน้ำหนักในเวลานี้ เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย พยายามทำตัวให้ผ่อนคลาย และระบายความรู้สึกเมื่ออึดอัดคับข้องใจ ซึ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยทำให้คุณแม่สบายใจและช่วยให้มีอาการดีขึ้นได้

ถ้ามีอาการนอนไม่หลับหรือกินอาหารไม่ได้จนร่างกายอ่อนเพลียมาก คุณแม่อาจต้องนอนพักในโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือ ให้สารอาหารบำรุงร่างกายเพื่อไม่ให้ร่างกายทรุดโทรมลงไปมากกว่าเดิม



โรคจิตหลังคลอด

โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis)  เป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อยมากนัก สามารถเริ่มเกิดได้ตั้งแต่หลังคลอด 4 สัปดาห์ แล้วจะคงอยู่ต่อไปจนกว่าการรักษาจะได้ผล โดยจะมีอาการรุนแรงมากจากโรคซึมเศร้าหลังคลอดและอาจจะหนักถึงขั้นเป็นโรคจิต คุณแม่จะมีอาการหงุดหงิด สับสน นอนไม่หลับ ถ้ามีใครขัดใจก็จะโกรธรุนแรง หรือมีการแสดงอารมณ์ที่ไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ในรายที่เป็นมาก ๆ อาจมีอาการได้ยินเสียงแว่วหรือภาพหลอนทางประสาท หรือบางรายอาจทำร้ายลูกหรือทำร้ายตัวเอง ซึ่งเมื่อมีอาการเหล่านี้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่โรคนี้ก็เป็นโรคที่พบได้น้อยมากครับ โดยมีรายงานจากต่างประเทศว่า พบได้ประมาณ 1-2 รายจากการคลอด 1,000 รายเท่านั้น

หากคุณแม่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

1. เห็นและได้ยินสิ่งที่ไม่มีตัวตน

2.ไม่แน่ใจว่าสิ่งใดเป็นเรื่องจริงหรือไม่ใช่เรื่องจริง

3. มีความคิดว่าจะทำร้ายลูกหรือทำร้ายตนเอง

4. มีความคิดว่าจะฆ่าตัวตายหรือทำฆาตกรรม

แนวทางการรักษา : จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อรับการดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยการใช้ยาและจิตบำบัดร่วมด้วย เพราะถ้าอยู่บ้านโดยที่ไม่มีคนดูแล คุณแม่อาจจะทำร้ายลูกหรือทำร้ายตัวเองได้

โรคจิตหลังคลอด

สาเหตุการเกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอด

อาการซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ หลายอย่าง ซึ่งเป็นผลรวมของการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง และอารมณ์ของคุณแม่ในช่วงหลังคลอด โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เชื่อกันว่าฮอร์โมนที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลังคลอดนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณแม่มีอารมณ์เศร้าหลังคลอดได้ เพราะเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนกับเอสโตรเจนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีปริมาณสูงตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ แต่หลังจากที่คุณแม่คลอดในช่วง 2-3 วันแรก ฮอร์โมนทั้งสองชนิดก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ฮอร์โมนลดลงอย่างรวดเร็วนี้ ร่างกายก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย จึงอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของคุณแม่ ถ้าคุณแม่ไม่สบายใจหรือมีปัญหาต่าง ๆ ให้ขบคิด ก็อาจจะยิ่งทำให้คุณแม่ซึมเศร้าและมีอาการรุนแรงจนกลายเป็นโรคได้

1.1 การที่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนในร่างกายคุณแม่ลดลงอย่างมากและรวดเร็ว โดยเฉพาะที่เชื่อกันมากก็คือการลดลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้าประมาณ 50% นั้น ในประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ครับ และยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้อย่างไร หมอบางท่านก็บอกว่ามีความไม่สมดุลของฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

1.2 ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลงจาก 2,000 นาโนกรัมต่อซี.ซี เหลือเพียง 20 นาโนกรัมต่อซี.ซี. ส่วนฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดลงในทันทีจาก 150 นาโนกรัมต่อซี.ซี. เหลือเพียง 7 นาโนกรัมต่อซี.ซี ต่อจากนั้นจะลดลงไปเรื่อย ๆ จนเอสโตรเจนเหลือเพียง 10 และโปรเจสเตอโรนเท่ากับ 0 นาโนกรัมต่อซี.ซี.

1.3 อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนี้ก็ไม่ใช่เพียงสาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้ เพราะยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกหลายอย่างรวมกัน และก็พบด้วยว่าคุณพ่อจำนวนไม่น้อยที่เกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอดด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เกิดจากฮอร์โมนแน่ ๆ แต่น่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจมากกว่า

2. คุณแม่รู้สึกไม่ใช่จุดรวมความสนใจอีกต่อไป ในช่วงก่อนคลอดใคร ๆ ก็มักจะสนใจหรือถามไถ่ถึงสุขภาพของแม่อยู่เสมอ ในช่วงเวลานั้นคุณแม่จึงรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวเอก เป็นขวัญใจ หรือเป็นจุดรวมของความสนใจ แต่พอหลังการคลอดคุณแม่กลับมิได้รับความสนใจเหมือนเคยอีกต่อไป เพราะญาติพี่น้องหรือผู้ไปเยี่ยมเยียนมักจะหันไปสนใจลูกน้อยเป็นหลัก เช่น เมื่อไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล ญาติก็มักจะทักทายกับคุณแม่เพียงคำสองคำแล้วก็พากันไปดูลูกน้อยที่ห้องเด็กอ่อน และคำถามที่คุณแม่ได้รับส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นคำถามที่เกี่ยวกับลูกเป็นส่วนใหญ่ ว่าลูกเป็นอย่างไร ร้องกวนไหม หน้าตาเหมือนใคร ฯลฯ แต่จะมีผู้มาเยี่ยมเพียงไม่กี่คนที่จะถามถึงเรื่องสุขภาพของคุณแม่ว่าเป็นอย่างไร เจ็บแผลมากไหม เลี้ยงลูกเหนื่อยหรือเปล่า มีเวลาพักผ่อนเพียงพอหรือมีปัญหาในการเลี้ยงลูกหรือไม่ (คำแนะนำ : ถ้าจะซื้อของขวัญไปเยี่ยมคุณแม่หลังคลอด ผมขอแนะนำว่าควรซื้อของขวัญให้คุณแม่หรือลูกคนโต (ถ้ามี) น่าจะมีประโยชน์มากกว่าในแง่ของการส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจ และควรให้ความสนใจกับคุณแม่และคนโตมากกว่าลูกน้อยที่เกิดใหม่ซึ่งยังไม่รู้เรื่องอะไร เพราะใครให้อะไรมาเจ้าตัวน้อยก็ยังไม่รู้เรื่องหรอกครับ หรือซื้อมาแล้วอาจจะซ้ำที่มีอยู่แล้วก็ได้ แต่การซื้อของขวัญให้ลูกคนโตรวมถึงการถามไถ่เกี่ยวกับตัวเขาบ้างก็จะช่วยให้เขาเป็นพี่ที่ดีและไม่อิจฉาน้องต่อไป)

3. การอยู่ในโรงพยาบาล เป็นเรื่องของกฎระเบียบในโรงพยาบาลที่คุณแม่ต้องปฏิบัติตาม จึงทำให้คุณแม่หลาย ๆ คนรู้สึกเครียดกับการที่ต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน ๆ เพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมือนที่บ้าน คุณแม่หลังคลอดจึงมักนอนไม่หลับเพราะรู้สึกแปลกที่ หรือลูกอาจร้องกวนในเวลากลางคืน

4. ปัญหาครอบครัวหรือปัญหาที่ต้องเจอตอนกลับบ้าน เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ภายในบ้านที่รุมล้อมอยู่ เช่น ไม่มีใครช่วยทำงานบ้าน ช่วยหุงหาอาหาร ช่วยเลี้ยงดูลูก หรือช่วยเลี้ยงดูแลลูกคนโต ฯลฯ รวมถึงสภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่พร้อม เหล่านี้จึงทำให้เกิดเป็นความเครียดสะสมจนบางครั้งก็หาทางแก้ไม่ได้

5. ขาดความมั่นใจในการดูแลลูกน้อย เรื่องนี้มักจะเกิดขึ้นกับคุณแม่มือใหม่มากกว่า เพราะคุณแม่ยังไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกมาก่อน จึงทำให้เกิดความกังวลใจว่าตนเองจะไม่สามารถเลี้ยงดูลูกน้อยให้ดีได้ เช่น กลัวว่าจะเลี้ยงลูกไม่ได้ ไม่รู้จะอุ้มลูกหรืออาบน้ำให้ลูกอย่างไร ฯลฯ

6. ความผิดหวังในตัวลูก เป็นเรื่องที่คุณแม่เมื่อคลอดลูกแล้วกลับรู้สึกผิดหวังที่ตนไม่ได้ลูกตามเพศที่ตัวเองต้องการ เพราะคาดหวังเพศของลูกเอาไว้มาก หรืออาจจะผิดหวังที่ลูกเกิดมาตัวเล็ก หรือมีหน้าตาแปลก ๆ ตัวแดง ๆ หัวอาจจะยาว ๆ เนื่องจากการคลอดที่เนิ่นนาน ลูกน้อยทำอะไรก็ไม่ได้ นอนได้อย่างเดียว ยิ้มหรือหัวเราะก็ไม่เป็น ฯลฯ

7. ความผิดหวังในเรื่องการคลอด คุณแม่หลายคนอาจผิดหวังในเรื่องของการคลอดบ้าง เพราะบางคนคิดว่าตัวเองน่าจะคลอดได้สบายแต่ก็คลอดยาก บางคนไม่อยากผ่าคลอดแต่ก็จำเป็นต้องผ่าหรือใช้เครื่องมือช่วยคลอด หรือในทางตรงข้าม คุณแม่บางรายอยากให้หมอผ่าคลอดให้เพราะกลัวว่าจะเจ็บท้อง แต่หมอก็ไม่ยอมให้ผ่าเพราะไม่มีความจำเป็น ความผิดหวังและความเจ็บปวดจากการคลอดที่เกิดขึ้นจึงอาจเปลี่ยนเป็นความเครียดได้

8. ลูกร้องกวนตลอดเวลา หิวก็ร้อง ฉี่ก็ร้อง อึก็ร้อง ดึก ๆ ดื่น ๆ ลูกก็ยังไม่ยอมนอน แม่ต้องอุ้